วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

14-ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของอาฌาจักรอยุธยา



ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ
ของอาณาจักรอยุธยา

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

            อยุธยามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี  มาตั้งแต่แรกตั้งอาณาจักรเนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร และการค้ากับต่างประเทศ

      1. เกษตรกรรม อยุธยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงและเหมาะต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะการปลูกข้าว  ข้าวจึงเป็นผลิตผลที่สำคัญของอาณาจักร ในการปลูกข้าวนั้นประชากรส่วนใหญ่จะทำในลักษณะพอยังชีพมีการใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ โดยใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความเหมาะสมจึงมีผลผลิตค่อนข้างมากที่จะส่งส่วยให้กับรัฐซึ่งทางรัฐเองก็จะนำไปหาผลประโยชน์อีกทางหนึ่ง นอกจากข้าวแล้วประชากรยังมีการผลิตในทางการเกษตรอีกหลายประเภท เช่น ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และการประมง ซึ่งผู้ปกครองเอง ก็เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรดังกล่าว จึงมีนโยบายสนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สนับสนุนให้ราษฎรเข้าไปทำกินในที่ดินว่างเปล่า ตรากฎหมายคุ้มครองผลผลิตของราษฎร เป็นต้น กระบวนการผลิตทางการเกษตรนั้น  ประชากรทั่วไปจะผลิตโดยใช้แรงงานครอบครัวและชุมชนตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ส่วนการผลิตของพระมหากษัตริย์ ขุนนางจะผลิตโดยใช้การเกณฑ์แรงงานไพร่และทาส กระบวนการผลิตดังกล่าวก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นหลายประการ เช่น การลงแขก การประกอบพิธีกรรม พืชมงคล และการทำขวัญไร่นา เป็นต้น
             
           การเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำให้อยุธยามีความรุ่งเรือง บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้อยุธยาขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวางและสามารถเอาชนะอาณาจักรน้อยใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิได้

      2. อุตสาหกรรม ผลิตผลทางอุตสาหกรรมของอยุธยา ส่วนใหญ่ คือ อุตสาหกรรมในครัวเรือน ผลิตเครื่องใช้ไม้สอยอย่างง่ายๆ รวมไปถึงเครื่องครัวเรือนของชุมชนชั้นสูงและในราชสำนัก เช่น เสื้อผ้า เครื่องจักรสาน เครื่องเหล็ก เครื่องแกะสลัก เครื่องประดับ การผลิตเครื่องทองรูปพรรณ อุตสาหกรรมที่สำคัญอีกอย่างก็ คือ การทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการพบเตาเผาภาชนะหลายเตาในบริเวณ แม่น้ำน้อย นอกจากนี้มีอุตสาหกรรมการต่อเรือขนาดเล็ก และเรือขนาดใหญ่ เพื่อใช้บรรทุกสินค้า

      3. การค้า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า อยุธยามีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นอาณาจักรการค้า ซึ่งได้สร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพราะสภาพที่ตั้งของอยุธยา เหมาะสมกับการค้าขายทั้งภายใจอาณาจักร และระหว่างประเทศ

             3.1  การค้าขายภายในอาณาจักร  ด้วยสภาพที่ตั้งของอยุธยาอยู่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่บริเวณที่แม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน  ดังนั้นจึงเป็นชุมชนทางการค้าที่พ่อค้าจากหัวเมืองทางเหนือ จะนำสินค้าของป่ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากพ่อค้าจีนที่เดินทางเข้ามาจอดเรือซื้อขายบริเวณปากน้ำเจ้าพระยาสินค้าเหล่านี้จะมีการค้าขายโดยผ่านพระคลังสินค้าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์จากการเป็นพ่อค้าคนกลางในการแสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าว  ความสำคัญของการค้าทำให้รัฐได้ส่งเสริมการค้าด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนออกกฎหมายควบคุมการค้า  เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี  อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนการค้า แต่ประชากรทั่วไปก็ไม่ได้รับผลประโยชน์มากนักเนื่องจากยังคงค้าขายที่เน้นการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ตนเองต้องการมากกว่าจะแสวงหากำไร และผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการค้าจึงจำกัดอยู่เฉพาะขุนนาง เจ้านาย ตลอดจนชาวต่างชาติ ผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว

             3.2  การค้าขายระหว่างประเทศ อยุธยานับว่ามีชัยภูมิเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากเป็นเมืองท่าที่อยู่กึ่งกลางเส้นทางการเดินเรือค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศอินเดีย ประกอบกับความเข้มแข็งของอำนาจทางการเมืองทำให้อยุธยาไม่มีคู่แข่งการค้าและยังเป็นศูนย์รวมของสินค้าจากเมืองท่าต่างๆ  ที่อยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของอยุธยาด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้อยุธยา กลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับอินเดีย

          สำหรับการค้าขายกับอยุธยากับประเทศในแถบเอเชีย  อยุธยาจะค้าขายกับจีน และอินเดียเป็นหลัก  นอกจากนั้นก็ค้าขายกับชาวอาหรับ  เปอร์เซีย  ส่วนการค้ากับต่างชาติตะวันตกนั้นโปรตุเกส  เป็นชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21 ต่อจากนั้นก็ชาติอื่นๆ เช่น สเปน  ฮอลันดา  อังกฤษ  และฝรั่งเศส  เดินทางเข้ามาค้าขายซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง  แต่เมื่อถึงรัชสมัยของราชวงศ์บ้านพลูหลวง  การค้ากับชาติตะวันตกก็ซบเซาลง

           การดำเนินกิจกรรมค้าขายกับต่างชาตินั้น รัฐจะเป็นผู้จัดการโดยหน่วยงาน “พระคลังสินค้า”  ซึ่งมีกรมท่าซ้ายดูแลรับผิดชอบการค้ากับอินเดีย และชาติอาหรับ เปอร์เซีย ส่วนกรมท่าขวาดูแลค้าขายกับจีน  และกรมท่ากลางค้าขายกับชาติตะวันตก หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการค้าขายโดยการผูกขาดสินค้า คือ สินค้าบางอย่าง เช่น อาวุธ และสินค้าที่รัฐเห็นว่าจะขายต่อได้กำไรรัฐจะผูกขาดซื้อไว้ ส่วนสินค้าออก เช่น  ข้าว และของป่า รัฐจะกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้ามต้องซื้อผ่านรัฐเท่านั้น  การที่รัฐดำเนินธุรกิจแบบผูกขาดสินค้าและยังเรียกเก็บภาษี การค้าจากเรือของชาวต่างชาติ ทำให้รัฐบาลได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากกิจกรรมดังกล่าว  (อดิสร  ศักดิ์สูง. 2546 :  67  อ้างจาก ศุภรัตน์  เลิศพาณิชย์กุล  2532 : 297 – 301) จะเห็นได้ว่าการค้าส่งผลให้อยุธยามีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจเกิดการขยายตัวของชุมชน การแลกเปลี่ยนสินค้า  การพัฒนาทางด้านสังคม นำไปสู่ความมั่นคงเข้มแข็งของอาณาจักรอยุธยา

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา

          ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  การมีแหล่งน้ำจำนวนมาก  ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพราะเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ  ซึ่งเหมาะสำหรับการทำนา  ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ  นอกจากนี้การมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการค้าขายกับเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายในตามเส้นทางแม่น้ำ และการค้าขายกับภายนอกทางเรือสำเภา  ทำให้เศรษฐกิจอยุธยามีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การเกษตรและการค้ากับต่างประเทศ ต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          1.  เศรษฐกิจในสมัยอยุธยาเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพที่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเช่นเดียวกับสุโขทัย พื้นฐานทางเศรษฐกิจของอยุธยาคือการเกษตร มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อบริโภคภายในอาณาจักรตามลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ  แต่อาณาจักรอยุธยาได้เปรียบกว่าอาณาจักรสุโขทัยในด้านภูมิศาสตร์  เพราะอาณาจักรอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอันกว้างใหญ่  แม่น้ำสำคัญคือ  แม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำป่าสัก  แม่น้ำลพบุรี  ซึ่งมีน้ำตลอดปีสำหรับการเพาะปลูก  พืชที่สำคัญคือ  ข้าว  รองลงมาได้แก่  พริกไทย  หมาก  มะพร้าว  อ้อย  ฝ้าย  ไม้ผลและพืชไร่อื่นๆ  ลักษณะการผลิตยังใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์เป็นหลัก  ด้วยเหตุดังกล่าว  อาณาจักรอยุธยาจึงได้ทำสงครามกับรัฐใกล้เคียงเพื่อครอบครองแหล่งทรัพยากรและกวาดต้อนผู้คนเพื่อนำมาเป็นแรงงานสำคัญของบ้านเมือง

  • ราชอาณาจักรอยุธยาได้ทำนุบำรุงการเกษตรด้วยการจัดพระราชพิธีต่างๆ เพื่อให้เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญชาวนาให้มีกำลังใจ  เช่น พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เป็น พิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีการสร้างสิริมงคลให้กับชาวนาและแจกพันธุ์ข้าว เป็น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็น พิธีลงมือจรดคันไถเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นการเตือนว่าถึงเวลาทำนาแล้ว
  • อาณาจักรอยุธยาไม่ได้สร้างระบบการชลประทานเพื่อส่งเสริมการเกษตร  เนื่องจากมีแหล่งน้ำเพียงพอ  ส่วนการขุดคลองทำขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางการคมนาคม  เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์  และการระบายน้ำตอนหน้าน้ำเท่านั้น แม้ว่าอาณาจักรอยุธยา การเพาะปลูกยังเป็นแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาแรงงานคนและธรรมชาติเป็นหลัก แต่สภาพภูมิศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์  ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีเหลือเป็นจำนวนมาก  ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าที่นำไปขายให้ชาวต่างประเทศ นำรายได้มาสู่อาณาจักร  ดังปรากฏหลักฐานว่าอยุธยาเคยขายหมากให้จีน  อินเดีย  และโปรตุเกส  ฝ้ายและมะพร้าวให้ญี่ปุ่นและมะละกา  ในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  มลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ลังกา  จีน  ญี่ปุ่น การเกษตรจึงเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของอยุธยาและมีส่วนในการเสริมสร้างราชอาณาจักร     อยุธยาให้เจริญรุ่งเรืองมาตลอดเวลา 417 ปี


          2.  อาณาจักรอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยาเอื้ออำนวยต่อการค้า  กล่าวคือ  ศูนย์กลางอาณาจักรตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการค้า  ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร  กล่าวคือ  กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน  คือ  แม่น้ำลพบุรี  แม่น้ำป่าสัก  และแม่น้ำเจ้าพระยา  ทำให้อยุธยาใช้เส้นทางทางน้ำติดต่อกับแว่นแคว้นที่อยู่ภายในได้สะดวก  เช่น  สุโขทัย    ล้านนา  ล้านช้าง นอกจากนี้ที่ตั้งของราชธานีที่อยู่ไม่ห่างไกลปากน้ำหรือทะเล  ทำให้อยุธยาติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก  และเมื่ออาณาจักรมีความเข้มแข็ง  สามารถควบคุมการค้ารอบชายฝั่งทะเลอันดามัน  และโดยรอบอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่พ่อค้าต่างชาติเดินทางมาค้าขายได้  ทำให้อยุธยาสามารถทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการติดต่อค้าขายระหว่างจีน  ญี่ปุ่นกับพ่อค้าต่างชาติอื่น ๆ กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  •  บทบาทสำคัญของอยุธยาทางการค้ามี 2 ประการ  คือ  เป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทของป่าที่ต่างชาติต้องการและเป็นศูนย์กลางการค้าส่งผ่าน  คือ  กระจายสินค้าจากจีนและอินเดียสู่ดินแดนตอนในของภูมิภาค  เช่น  ล้านนา  ล้านช้าง  และส่งสินค้าจีนไปยังดินแดนต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย  และรวบรวมสินค้าจากดินแดนตอนในและจากดินแดนต่างๆ ในอินเดียไปขายต่อให้จีน


  •  สินค้าประเภทของป่า ได้แก่  สัตว์ป่าและผลผลิตจากสัตว์ป่า  ไม้  เช่น  ไม้ฝาง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์หอม  และพืชสมุนไพร  เช่น  ลูกกระวาน  ผลเร่ว  กำยาน  การบูร  เป็นต้น  สินค้าเหล่านี้ได้จากดินแดนภายในอาณาจักรอยุธยา และดินแดนใกล้เคียง  ผ่านทางระบบมูลนาย โดยแรงงานไพร่จะเป็นผู้หาแล้วส่งมาเป็น  "ส่วย"  แทนแรงงานที่จะต้องมาทำงานให้รัฐ  บางส่วนได้มาด้วยการซื้อหาแลกเปลี่ยนกับราษฎรและอาณาจักรเพื่อนบ้าน  แต่ส่วนใหญ่มาจากการเกณฑ์ส่วยจากหัวเมืองภายในอาณาจักร  โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง  ทำให้การเกณฑ์ส่วยรัดกุมมากกว่าเดิม  และส่วนหนึ่งมาจากเมืองประเทศราชของอยุธยา  นอกจากของป่าแล้ว  สินค้าออกยังได้แก่  พริกไทย  ดีบุก  ตะกั่ว  ผ้าฝ้าย  และข้าว  ส่วนสินค้าเข้าได้แก่  ผ้าแพร  ผ้าลายทอง  เครื่องกระเบื้อง  ดาบ  หอก  เกราะ  ฯลฯ



  • การค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เป็นการส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับดินแดนต่างๆ  ที่สำคัญคือการค้ากับจีนภายใต้การค้าในระบบบรรณาการ  ที่จีนถือว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของจีน  แต่อยุธยาเห็นว่าเป็นประโยชน์ทางการค้า  เพราะทุกครั้งที่เรือของอยุธยาเดินทางไปค้าขายกับจีนจะนำ  "ของขวัญ"  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากป่า  เช่น  นกยูง  งาช้าง  สัตว์แปลกๆ  กฤษณา  กำยาน  เป็นต้น  เป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายให้จักรพรรดิจีน  ซึ่งจีนจะมอบของตอบแทน  เช่น  ผ้าไหม  เครื่องลายคราม  ซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงเป็นการตอบแทน  เรือสินค้าที่นำสินค้าไปค้าขายก็จะถูกละเว้นภาษีและได้รับการอนุญาตให้ค้าขายกับหัวเมืองต่างๆ ของจีนได้ นอกจากนี้อยุธยายังค้าขายกับหัวเมืองมลายู  ชวา  อินเดีย  ฟิลิปปินส์  เปอร์เซีย  และลังกา  การค้าส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์  เจ้านาย และขุนนาง  มีการค้าเอกชนบ้างโดยพวกพ่อค้าชาวจีนดำเนินการ  ลักษณะการค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนต้นยังเป็นการค้าแบบเสรี  พ่อค้าต่างชาติยังสามารถค้าขายกับราษฎรได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาล  แต่ก็มีลักษณะการผูกขาดโดยทางอ้อมในระบบมูลนาย


  •                  หลังรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072)  การค้ากับต่างประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น  เพราะอยุธยาเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก  เริ่มตั้งแต่ชาติโปรตุเกสใน พ.ศ. 2054  ต่อมาใน พ.ศ. 2059  อยุธยาได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีทางการค้ากับโปรตุเกส  เป็นฉบับแรกที่อยุธยาทำกับประเทศตะวันตก  จากนั้นก็มีชาติฮอลันดา (พ.ศ. 2142)  สเปน (พ.ศ. 2141)  อังกฤษ  ในรูปบริษัทอินเดียตะวันออก  บริษัทการค้าของฮอลันดา  เรียกว่า  V.O.C.  ส่วนบริษัทการค้าของอังกฤษ  เรียกว่า  E.J.C.  และฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231)


  •  การค้ากับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111)  มีการตรากฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการค้าและจัดระบบผูกขาดทางการค้าให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น คือ  มีการกำหนดสินค้าต้องห้าม  ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลโดยพระคลังสินค้าเท่านั้นที่จะผูกขาดซื้อขาย  สินค้าขาเข้า  ได้แก่  ปืนไฟ  กระสุนดินดำ  และกำมะถัน  ส่วนสินค้าขาออก  ได้แก่  นอระมาด  งาช้าง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์  ไม้หอม  และไม้ฝาง  ซึ่งต่อมาการค้าผูกขาดของรัฐ ได้เข้มข้นมากขึ้น  สินค้าบางประเภท  เช่น  ถ้วยชาม  ผ้าแดง  ซึ่งเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันก็เป็นสินค้าผูกขาดด้วยและมีการจัดตั้ง "พระคลังสินค้า"  ให้รับผิดชอบดูแลการค้าผูกขาดของรัฐบาล  พระคลังสินค้าจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยในสมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปลายสมัยอยุธยา "ข้าว" ได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญแทนที่สินค้าจากป่า  เนื่องจากเกิดทุพภิกขภัยอย่างรุนแรงในประเทศจีน  ชาวจีนจึงขอให้พ่อค้าอยุธยานำข้าวไปขายให้จีนโดยลดภาษีให้  นอกจากนี้อยุธยายังขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  หัวเมืองมลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ญวน  เขมร  มะละกา  ลังกา  และญี่ปุ่น การค้ากับต่างประเทศจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจอยุธยา  ซึ่งนำความมั่งคั่งให้กลุ่มผู้ปกครอง ได้แก่  พระมหากษัตริย์  เจ้านาย  และขุนนางอย่างมหาศาล 


3.  รายได้ของอยุธยา

           1) รายได้ในระบบมูลนาย  แรงงานจากไพร่ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ  รัฐบาลได้เกณฑ์      แรงงานจากไพร่ในระบบเข้าเดือนออกเดือน  หรือปีละ 6 เดือน  มาทำงานให้รัฐ  เช่น  การสร้างกำแพงเมือง  ขุดคลอง   สร้างวัด  สร้างถนน เป็นต้น  ไพร่ที่ไม่ต้องการทำงานให้รัฐก็สามารถจ่ายสิ่งของที่รัฐต้องการ  เช่น  มูลค้างคาว  สินค้าป่า  เรียกว่า  "ส่วย" แทนการเกณฑ์แรงงานได้ ส่วยเหล่านี้รัฐจะนำไปเป็นสินค้าขายยังต่างประเทศต่อไป

          2) รายได้จากภาษีอากร ภาษีอากรในสมัยอยุธยา มีดังนี้        

- ส่วย  คือ  สิ่งของหรือเงินที่ไพร่หลวงจ่ายให้รัฐทดแทนการถูกเกณฑ์มาทำงาน  โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าท้องถิ่นใดจะส่งส่วยประเภทใด  เช่น  ส่วยดีบุก  ส่วยรังนก  ส่วยไม้ฝาง  ส่วยนอแรด  ส่วยมูลค้างคาว  เป็นต้น

  • - อากร  คือ  เงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรประกอบอาชีพได้  เช่น  การทำนา  จะเสียอากรค่านา เรียกว่า  "หางข้าว" ให้แก่รัฐ เพื่อรัฐจะได้เก็บไว้เป็นเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ ผู้ที่ทำสวนเสียอากรค่าสวนซึ่งคิดตามประเภทและจำนวนต้นไม้แต่ละชนิด นอกจากนี้ยังรวมถึงการได้รับสิทธิจากรัฐบาลในการประกอบอาชีพ เช่น การอนุญาตให้ขุดแร่ การอนุญาตให้เก็บของป่า การอนุญาตให้จับปลาในน้ำ การอนุญาตให้ต้มกลั่นสุรา เป็นต้น


  • - จังกอบ  คือ  ค่าผ่านด่านขนอนทั้งทางบกและทางน้ำ  โดยเรียกเก็บตามยานพาหนะที่บรรทุกสินค้า เช่น  เรือสินค้าจะเก็บตามความกว้างของปากเรือตามอัตราที่กำหนด  จึงเรียกว่า  ภาษีปากเรือ  ส่วนพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นมักเก็บในอัตราสิบชักหนึ่ง- ฤชา  คือ  เงินที่รัฐเรียกเก็บจากการให้บริการจากราษฎร  เช่น  การออกโฉนด  หรือเงินปรับไหมที่ผู้แพ้คดีต้องจ่ายให้ผู้ชนะ  เงินค่าธรรมเนียมนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  "เงินพินัยหลวง"


         3) รายได้จากต่างประเทศ ได้แก่ ผลกำไรจากการค้าเรือสำเภา ภาษีสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก สิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิจีน บรรณาการจากต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น